วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556


เอาละครับ ทีนี้ก็เดินทางมาถึงเรื่องที่ เรื่องที่ 555 เป็นเรื่องที่ทำให้ท่านผู้เยี่ยมชม คงสนใจไม่มากก็น้อย.. เพราะชื่อของเครื่องมือชนิดนี้ แปลกหูดีทีเดียวครับ มันมีชื่อว่า หมาตกน้ำ ไม่ใช่ๆ หมาตักน้ำต่างหากครับผม แต่หน้าตาของมัน ใครหลายๆคนคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับใครเพิ่งเข้ามาสนใจล่ะก็ไม่ต้องกังวลครับ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้านี่ มาฝากด้วยครับ..

หมาตักน้ำ


ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ แต่ใช้ประโยชน์ได้จริง "หมาตักน้ำ"





 หมาตักน้ำ (หมา หรือ ติหมา) เป็นภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งใช้กันในชุมชนบางใบไม้ด้วย ทำด้วยกาบหรือใบของพืชตระกูลปาล์มที่หาได้ในท้องถิ่น การเรียกชื่อบางครั้งจึงมีชื่อของพืชที่นำมาเป็นวัสดุทำต่อท้ายด้วย เช่น
ถ้าทำจากใบจากก็เรียกว่า"หมาจาก"
ถ้าทำจากต้อหมาก (กาบหมาก) ก็เรียกว่า "หมาต้อ"
ถ้าทำจากกาบเหลาชะโอนก็เรียกว่า "หมาต้อหลาวโอน" (หรือ "หมาต้อ" เช่นเดียวกัน) แต่บางคนก็ใช้คำว่า "หมา" "ติหมา" หรือ "หมาตักน้ำ" รวม ๆ กันไปโดยไม่คำนึงถึงวัสดุที่ใช้ทำในท้องถิ่นบางแห่ง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการใช้คำว่า "หมา" ในความหมายที่กว้างออกไป หมายถึงภาชนะตักน้ำปัจจุบันเรียกภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยสังกะสี อะลูมิเนียม หรือเหล็กว่า "หมาถัง" หรือ "หมาถั้ง" ที่ทำด้วยพลาสติกก็เรียกว่า "หมาพลาสติก" อันเป็นการรักษาชื่อเต็มที่ขึ้นต้นด้วย "หมา" เอาไว้
ศัพท์คำว่า "หมา" หรือ "ติหมา"นี้ บางท่านว่ามิใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่มาจากภาษามาลายูว่า "Timba" ซึ่งหมายถึง ภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยกาบหมาก

           
        ในบรรดาหมาที่ทำจากพืชตระกูลปาล์มในท้องถิ่นภาคใต้ หมาจากออกจะเป็นที่นิยมทำและใช้กันมากกว่าชนิดอื่น ๆ ประกอบกับเห็นว่ามีรูปลักษณะสวยงามและมีกรรมวิธีการทำที่น่าสนใจกว่าหมาชนิดอื่นซึ่งทำขึ้นเพียงเอากาบมาห่อตัวเป็นรูปหมาเท่านั้น ในที่นี้จึงกล่าวถึงเฉพาะการทำหมาจากเท่านั้น การทำเริ่มด้วยการตัดเอายอดจากที่เป็นยอดอ่อน ๆ ซึ่งมีใบรวมกันหนาแน่นและยังไม่แตกออกมาจากยอดเป็นใบ ๆ (ถ้ายอดเริ่มแตกใบก็แสดงว่าใบเริ่มแก่แล้วใช้ไม่ได้) นำเอายอดนั้นมาตัดเอาแต่ละใบที่เห็นว่ามีขนาดพอจะใช้ทำหมาได้ตากแดดให้พอหมาด ๆ เพื่อนำไปสอดได้สะดวก เมื่อสอดต้องคลี่ใบออกข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคน - ปลายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ปลายทั้งสอง ข้างมีขนาดเท่า ๆ กัน เมื่อสอดไปจนได้ขนาดตามต้องการก็รวบปลายทั้ง 2 ข้างเข้าหากันเพื่อผูกติดกันเป็นที่ถือเวลาจะใช้ตักน้ำ หมาที่ทำเสร็จแล้วอาจมีขนาดใหญ่ - เล็กต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดความยาวและใหญ่ของจากที่นำมาสอดและจำนวนใบที่ใช้สอย และถ้าต้องการให้หมานั้นสวยงามและทนทานใบจากไม่แยกออกจากกันง่าย ๆ ก็ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจากแต่ละใบตามแนวขวางของใบจากที่สอดกันนั้น โดยพยายามเย็บให้เป็นแนวตรงส่วนกลางของหมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงในการรับน้ำหนักของน้ำ การเย็บนี้อาจเย็บหลายแถวก็ได้ แต่ถ้าเป็นหมาขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเย็บ
1. ชนิดตามลักษณะของการผูกปลายของตัวหมาให้เป็นที่ถือคือ "หมาโผ้" (โผ้ - ตัวผู้) หมายถึง หมาที่เอาปลายทั้ง 2 มาผูกไขว้กัน
2."หมาเหมีย"(เหมีย - ตัวเมีย) หมายถึงหมาที่เอาปลายทั้ง 2 ข้างมาสอดผูกแนบกัน
นอกจากทำด้วยวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นภาคใต้ และราคาไม่แพงแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการใช้อีกหลายประการ เช่นมีน้ำหนักเบา มีที่ยึดถือหรือสำหรับผูก และสามารถตะแคงหรือคว่ำตัวได้เองเพียงแต่วางบนผิวน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงววัฒนธรรมของการคิดที่สัมพันธ์กับการใช้ของชาวบ้าน
         หมาจึงเป็นภาชนะที่นิยมใช้กันทั่วไปในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตักน้ำในบ่อ ในสระ หรือในพัง ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องออกแรงกระตุกเหมือนการใช้ภาชนะสมัยใหม่อื่น ๆ นอกจากนั้นชาวบ้านยังใช้หมาในทางอื่น ๆ อีก เช่น ใช้วิดน้ำเรือ ตลอดจนใช้ตักน้ำอย่างเช่นภาชนะตักน้ำอื่น ๆ ทั่วไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น