เอาละครับ
ทีนี้ก็เดินทางมาถึงเรื่องที่ เรื่องที่ 555 เป็นเรื่องที่ทำให้ท่านผู้เยี่ยมชม
คงสนใจไม่มากก็น้อย.. เพราะชื่อของเครื่องมือชนิดนี้ แปลกหูดีทีเดียวครับ
มันมีชื่อว่า หมาตกน้ำ ไม่ใช่ๆ “หมาตักน้ำ” ต่างหากครับผม แต่หน้าตาของมัน ใครหลายๆคนคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว
แต่สำหรับใครเพิ่งเข้ามาสนใจล่ะก็ไม่ต้องกังวลครับ มีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้านี่
มาฝากด้วยครับ..
หมาตักน้ำ
ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ แต่ใช้ประโยชน์ได้จริง "หมาตักน้ำ"
หมาตักน้ำ (หมา หรือ ติหมา)
เป็นภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งใช้กันในชุมชนบางใบไม้ด้วย
ทำด้วยกาบหรือใบของพืชตระกูลปาล์มที่หาได้ในท้องถิ่น
การเรียกชื่อบางครั้งจึงมีชื่อของพืชที่นำมาเป็นวัสดุทำต่อท้ายด้วย เช่น
ถ้าทำจากใบจากก็เรียกว่า"หมาจาก"
ถ้าทำจากต้อหมาก (กาบหมาก)
ก็เรียกว่า "หมาต้อ"
ถ้าทำจากกาบเหลาชะโอนก็เรียกว่า
"หมาต้อหลาวโอน" (หรือ "หมาต้อ" เช่นเดียวกัน)
แต่บางคนก็ใช้คำว่า "หมา" "ติหมา" หรือ "หมาตักน้ำ"
รวม ๆ กันไปโดยไม่คำนึงถึงวัสดุที่ใช้ทำในท้องถิ่นบางแห่ง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการใช้คำว่า
"หมา" ในความหมายที่กว้างออกไป
หมายถึงภาชนะตักน้ำปัจจุบันเรียกภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยสังกะสี อะลูมิเนียม
หรือเหล็กว่า "หมาถัง" หรือ "หมาถั้ง"
ที่ทำด้วยพลาสติกก็เรียกว่า "หมาพลาสติก" อันเป็นการรักษาชื่อเต็มที่ขึ้นต้นด้วย
"หมา" เอาไว้
ศัพท์คำว่า "หมา" หรือ
"ติหมา"นี้ บางท่านว่ามิใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่มาจากภาษามาลายูว่า
"Timba" ซึ่งหมายถึง ภาชนะตักน้ำที่ทำด้วยกาบหมาก
ในบรรดาหมาที่ทำจากพืชตระกูลปาล์มในท้องถิ่นภาคใต้
หมาจากออกจะเป็นที่นิยมทำและใช้กันมากกว่าชนิดอื่น ๆ ประกอบกับเห็นว่ามีรูปลักษณะสวยงามและมีกรรมวิธีการทำที่น่าสนใจกว่าหมาชนิดอื่นซึ่งทำขึ้นเพียงเอากาบมาห่อตัวเป็นรูปหมาเท่านั้น
ในที่นี้จึงกล่าวถึงเฉพาะการทำหมาจากเท่านั้น
การทำเริ่มด้วยการตัดเอายอดจากที่เป็นยอดอ่อน ๆ
ซึ่งมีใบรวมกันหนาแน่นและยังไม่แตกออกมาจากยอดเป็นใบ ๆ (ถ้ายอดเริ่มแตกใบก็แสดงว่าใบเริ่มแก่แล้วใช้ไม่ได้)
นำเอายอดนั้นมาตัดเอาแต่ละใบที่เห็นว่ามีขนาดพอจะใช้ทำหมาได้ตากแดดให้พอหมาด ๆ
เพื่อนำไปสอดได้สะดวก เมื่อสอดต้องคลี่ใบออกข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคน -
ปลายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ปลายทั้งสอง ข้างมีขนาดเท่า ๆ กัน เมื่อสอดไปจนได้ขนาดตามต้องการก็รวบปลายทั้ง
2 ข้างเข้าหากันเพื่อผูกติดกันเป็นที่ถือเวลาจะใช้ตักน้ำ
หมาที่ทำเสร็จแล้วอาจมีขนาดใหญ่ - เล็กต่างกัน
ขึ้นอยู่กับขนาดความยาวและใหญ่ของจากที่นำมาสอดและจำนวนใบที่ใช้สอย
และถ้าต้องการให้หมานั้นสวยงามและทนทานใบจากไม่แยกออกจากกันง่าย ๆ
ก็ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจากแต่ละใบตามแนวขวางของใบจากที่สอดกันนั้น
โดยพยายามเย็บให้เป็นแนวตรงส่วนกลางของหมา
เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงในการรับน้ำหนักของน้ำ
การเย็บนี้อาจเย็บหลายแถวก็ได้ แต่ถ้าเป็นหมาขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเย็บ
1.
ชนิดตามลักษณะของการผูกปลายของตัวหมาให้เป็นที่ถือคือ "หมาโผ้" (โผ้ -
ตัวผู้) หมายถึง หมาที่เอาปลายทั้ง 2 มาผูกไขว้กัน
2."หมาเหมีย"(เหมีย -
ตัวเมีย) หมายถึงหมาที่เอาปลายทั้ง 2 ข้างมาสอดผูกแนบกัน
นอกจากทำด้วยวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นภาคใต้
และราคาไม่แพงแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการใช้อีกหลายประการ
เช่นมีน้ำหนักเบา มีที่ยึดถือหรือสำหรับผูก
และสามารถตะแคงหรือคว่ำตัวได้เองเพียงแต่วางบนผิวน้ำ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงววัฒนธรรมของการคิดที่สัมพันธ์กับการใช้ของชาวบ้าน
หมาจึงเป็นภาชนะที่นิยมใช้กันทั่วไปในภาคใต้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตักน้ำในบ่อ ในสระ หรือในพัง
ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องออกแรงกระตุกเหมือนการใช้ภาชนะสมัยใหม่อื่น ๆ
นอกจากนั้นชาวบ้านยังใช้หมาในทางอื่น ๆ อีก เช่น ใช้วิดน้ำเรือ
ตลอดจนใช้ตักน้ำอย่างเช่นภาชนะตักน้ำอื่น ๆ ทั่วไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น