วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรื่องราวของหนังตะลุง ป็นจุดสนใจของชาวภาคใต้ ตั้งแต่โบราณกาล มีอยู่อย่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปรวมทั้ง ชุมชนบางใบไม้แห่งนี้อีกด้วย
ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง 
หนังตะลุง เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อไร แต่มีข้อสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมการเล่นหนังหรือละครเงา (Shadow Plays) ปรากฏในแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ของโลกหลายแหล่ง เช่น อียิปต์ จีน อินเดีย และเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปหนังที่ใช้เล่นมี 2 แบบ คือ ชนิดที่ส่วนแขนติดกับลำตัว   มีขนาดใหญ่ เช่น หนังใหญ่ของไทย และหนังสเบก (Nang Sbek) ของเขมร และชนิดที่ส่วนแขน  ฉลุแยกจากส่วนลำตัวแต่ร้อยหมุดให้ติดกัน เคลื่อนไหวได้ เช่น หนังอยอง (Nang Ayong Jawa) ของชวา และหนังตะลุงของไทย หนังตะลุงเป็นการเล่นที่มีมาแต่โบราณ จึงไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด และปรากฏหลักฐานว่าในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะแก่อียิปต์ ได้โปรดให้มีการแสดงหนังตะลุงเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแก่ชัยชนะ ส่วนในประเทศอินเดีย  พวกพราหมณ์แสดงหนังบูชาเทพเจ้าและสดุดี วีระบุรุษ เรื่องมหากาพย์รามยณะ เรียกหนังตะลุงว่า "ฉายานาฏกะ" ในประเทศจีนสมัยจักรพรรดิยวนตี่ (พ.ศ.495-411) พวกนักพรตลัทธิเต๋า  ได้แสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกผู้หนึ่งของจักรพรรดิพระองค์นี้ เมื่อพระนางวายชนม์
         ในสมัยต่อมา หนังตะลุงได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย มีข้อสันนิษฐานว่าหนังใหญ่น่าจะเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และน่าจะได้แบบมาจากอินเดีย ลัทธิพราหมณ์มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก มีการเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ถือเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์  หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์และหนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จ     พระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวีพระเจ้าปราสาททองทรงรับสั่งเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครู หรือพระโหราธิบดี ทรงมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนังอันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ (พ่วง บุษรารัตน์, 2541)หนังตะลุงมีมาแต่โบราณ และปรากฏอยู่ในบริเวณกว้าง ตั้งแต่ซีกโลกตะวันออกแถบประเทศจีนไปจนจดซีกโลกตะวันตกแถบประเทศอียิปต์โบราณและประเทศโมร็อคโค การค้นหาแหล่งต้นกำเนิดของการแสดงหนังตะลุงที่แน่ชัดนั้น ต้องเจาะลึกในรายละเอียดของต้นกำเนิดเทคนิคการส่งเงาหรือรูปให้ปรากฏบนจอ แต่เทคนิคดังกล่าวเป็นสิ่งง่ายที่ผู้ใดได้รับชมเพียงครั้งเดียวก็สามารถเลียนแบบได้ ดังนั้น นักท่งเที่ยวที่ได้ชมการแสดง เมื่อกลับถึงประเทศของตน ก็อาจจะนำการแสดงละครเงาไปพัฒนาในด้านต่างๆ ก็จะเกิดเป็นรูปแบบการแสดงเฉพาะของตน นอกจากนี้อิทธิพลชาวต่างชาติที่ปรากฏในรูปหนัง บทพากษ์ และดนตรีก็พิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกัน ประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการแสดงแบบนี้ ล้วนเป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียสมัยโบราณ ดังนั้นหากต้องการจะค้นหาต้นกำเนิดของการแสดงหนังตะลุงของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจต้องกลับไปสืบค้นที่ประเทศอินเดีย (Sweeney, 1972)
            ๑ หนังตะลุงและความสัมพันธ์ทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ
๑.๑ การแกะรูปหนังตะลุง
                กรรมวิธีในการแกะรูปหนังตะลุง มีลักษณะที่คล้ายกับการแกะหนังใหญ่ ซึ่งทำจากหนังสัตว์เหมือนกัน โดยจะใช้หนังวัว หนังควาย หนังหมี หนังเสือ หรือหนังกวาง แต่ในปัจจุบันนิยมใช้หนังวัวมากที่สุด เนื่องจากสามารถหาได้ง่ายที่สุด (สุจิตรา  มาถาวร, 2541)  
                การแกะรูปหนังตะลุงเริ่มจากการนำหนังวัวสดๆไปแช่น้ำปูนขาวเพื่อให้หนังนิ่ม จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วใช้เหล็กหรือกะลามะพร้าวขูดเอาพังผืดและขนออกจนหนังมีความขาว หรือก่อนจะขึงหนังให้แห้งและราดด้วยน้ำส้มสายชูนั้นบางที่จะขูดหนังด้านในที่ยุ่ยออกให้หมดเสียก่อน เมื่อราดด้วยน้ำส้มสายชูแล้วก็ขูดอีกครั้งให้ถึงเนื้อหนังแท้ๆ   แล้วขูดหนังให้เรียบและบางตามต้องการ โดยทั่วไปแล้วจะต้องขูดหนังทั้งสองข้าง หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่า หนังแก้ว แต่ถ้าเป็นการแกะหนังรูปใหญ่และเพิ่มความสวยงามก็จะขูดเพียงด้านเดียว โดยปล่อยด้านที่มีขนไว้แล้วนำมาตากแดดไว้หนึ่งหรือสองวัน  นอกจากนี้การแกะหนังตะลุงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับตัวหนังสำคัญบางตัว เช่น รูปตัวตลก รูปฤาษี จะนิยมทำจากหนังวัวที่ตายผิดปกติ เช่น ถูกฟ้าผ่าตาย หรือออกลูกตาย หรืออาจจะทำจากหนังสัตว์ชนิดอื่น เช่น  หนังเสือ ส่วนหนังหมี จะนิยมนำมาใช้ในการทำรูปตลกโดยเฉพาะ
               หลังจากได้หนังที่ตากแดดไว้จนแห้งสนิทได้ที่แล้ว ก็จะนำขี้ถ่านจากกะลามะพร้าวเผาไฟ หรือขี้ถ่านจากใบลำโพงดำ นำมาละลายน้ำข้าวแล้วทาให้ทั่วแผ่นหนังแล้วขัดจนแผ่นหนังมีสีดำเป็นเงา จากนั้นก็เริ่มร่างภาพลงบนแผ่นหนัง โดยอาจจะร่างบนกระดาษหรือผ้าขาวก่อน แล้วนำไปปิดบนแผ่นหนัง และแกะสลักตามรอยร่างโดยใช้ตุ๊ดตู่หรือสิ่วขนาดต่างๆ     ตามความเหมาะสมของลวดลายที่แกะ  

รูปภาพที่๑.๑ รูปการตากหนังวัวและการแกะรูปหนังตะลุง
        ในการแกะรูปหนังตะลุงนั้น นายช่างจะต้องมีใจรักและมีจินตนาการที่ดี และควรที่จะศึกษาประวัติของตัวหนังที่จะแกะ ว่ามีรูปร่าง หน้าตา และบุคลิก ลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้ภาพหนังตามแบบตัวละคร ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกันไป  นอกจากนี้การแกะหนังยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย เพื่อให้เกิดความเป็น ศิริมงคล แก่ตนเองและคณะ ป้องกันอันตรายที่จะมีขึ้น
                        นายช่างแกะรูปหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครูอาจารย์ คือครูลาย    ครูหนฺก(ครูหนฺก : ครูที่เขียนลายกนกต่างๆ) และพระพิฆเนศวร หรือพระพิฆเนศวร์    พระผู้ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนังเพื่อจะแกะรูปตัวแรกพร้อมกล่าวเป็นถาถาเบิกตารูปว่า
                        พุทธัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ
                        ธัมมัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ
                        สังฆัง  จักขุ  รูปัง  ปักกัจฉามิ
เมื่อแกะรูปตัวนั้นเสร็จ ก็กล่าวคาถาเปิดหูว่า
                        โอม  ทะนิสาน  ผลาญจังไร  อุบาทว์ได้แก่เจ้าไพร  จังไรได้แก่เพ็ดสนูกรรณ อายุสั้นได้แก่นางธรณี ความดีได้แก่กู
                        โอม  นะโม  พุทธัส  กำ(มะ) จัดออกไป
                        โอม  นะโม  ธัมมัส  กำ(มะ) จัดออกไป
โอม  นะโม  สังฆัส  กำ(มะ) จัดออกไป  พัดสะเดียด  จังไร  อย่าเข้ามาใกล้
                        เข้ามาไม่ได้  พัทธสีฑล  พัทธสีมา  มณฑล  มณี.          
เสร็จแล้วก็กล่าวคาถาเบิกรูป โดยกล่าวเสียงแรกเบิกปากของเด็กว่า
                        อา  โอ  ออ  แอ
                        รูปหนังตัวต่อๆไปที่ทำในวันนั้น จะไม่ต้องว่าคาถาข้างต้นอีก แต่พอเริ่มวันใหม่     ก็ต้องกล่าวคาถานี้อีก  และเมื่อแกะลวดลายเสร็จแล้ว ก็จะนำรูปหนังตะลุงไปลงสี ซึ่งสีที่ใช้มีทั้งมาจากธรรมชาติ และสีสังเคราะห์ โดยจะเลือกลงสีให้เหมาะสมกับบุคลิกของหนังแต่ละตัว ถ้าเป็นรูปหนังฟอกทั้งสองหน้า เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจะใช้น้ำมันวานิชสำหรับทาไม้ทาชักเงา และกันน้ำอีก      ทีหนึ่ง โดยในสมัยก่อนจะใช้น้ำมันยางเคลือบเงา หลังจากนั้นนำตัวหนังที่ประกอบเสร็จแล้วมาใส่ก้านไม้ไว้สำหรับเชิดและปักหน้าจอ และถ้าเป็นตัวตลกจะใส่ก้านไม้เพิ่มที่มือทั้งสองด้านด้วย     เพื่อทำเชือกดึงปากให้สามารถอ้าออกได้เวลาพูด ซึ่งในปัจจุบันนี้การแกะรูปหนังตะลุงมีทั้งเพื่อนำไปใช้ในการแสดง และสำหรับเป็นของที่ระลึกของจังหวัดทางภาคใต้อีกด้วย
                        ๑.๒ รูป/ตัวหนังตะลุง
                        ตัวหนังตะลุงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
                        กลุ่มที่ 1 รูปตัวหนัง คือ หนังชั้นสูง ได้แก่ พระฤาษี พระอิศวร พระราชน    พระมเหสี เป็นต้น
                        กลุ่มที่ 2 รูปเชิด คือ รูปหนังทั่วไป เช่น ตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ หนุมาน เป็นต้น
                        กลุ่มที่ 3 รูปกาก คือ รูปหนังที่เป็นตัวตลก ซึ่งมักจะมีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย”     นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปหนังที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆอีก เช่น ปราสาทราชวัง ต้นไม้ เป็นต้น
                        ตัวหนังตะลุงแต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์ประจำตัวที่แตกต่างกัน ดังนี้
 ๑. พระฤาษี เป็นรูปหนังตัวครูไว้สำหรับเคารพบูชา และใช้สำหรับการเชิดออกฤาษีหลังการทำพิธีกรรมเบิกโรง พระรูปฤาษีรูปครูจะลงสีดำและปิดทองคำเปลว ชาวบ้านเรียกว่าฤาษีหัวค่ำ  ส่วนพระฤาษีที่ออกในท้องเรื่องแม้ตัวจะเป็นสีดำแต่ก็จะมีสีสันตามลักษณะที่ต้องการ และหากเป็นฤาษีประเภทที่ประพฤติออกนอกลู่นอกทางของนักบวช ก็จะมีรูปลักษณ์ที่แสดงออกถึงพฤติกรรมนั้นๆประกอบด้วย ซี่งมักเรียกเชื่อว่า ฤาษีเส้ง หรือฤาษีนกเค็ด

รูปภาพที่ ๑ รูปพระฤาษี
๒. พระอิศวร มักจะแกะเป็นรูปพระอิศวรทรงโคอุสุภราช บางคณะอาจใช้รูปพระอิศวรในปางอาวตารของพระนารายณ์สี่กรก็ได้  บางคณะจะมีการออกนางฟ้านางเมขลาล่อแก้ว ก่อนจะออกพระอิศวรก็มี  การออกพระอิศวรเป็นการเคารพต่อเทวดา ใช้สำหรับเชิดต่อจากพระฤาษี  ชาวบ้านเรียกว่า ออกโค

                                                                 รูปภาพที่ ๒ รูปพระอิศวร

๓. เจ้าเมือง หรือ ตัวพระ เรื่องที่นิยมแสดงคือวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ หรือเป็นนิทานจักรๆวงศ์ๆ ซึ่งพระเอกมักจะเป็นกษัตริย์แต่จะเรียกว่าเจ้าเมืองหรือถ้าเป็นเจ้าชายหรือราชกุมาร จะทรงเครื่องเช่นกันแต่ไม่สวมมงกุฎ รูปหนังตัวพระจึงมีลักษณะเป็นชายรูปงามที่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ แต่ถ้าเป็นตัวพระเอกที่ไม่ใช่เจ้าชาย คือ ตัวเอกเป็นคนธรรมดาก็จะแต่งกายตามท้องเรื่องซึ่งเป็นรูปแบบที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามยุคสมัย
                  รูปภาพที่ ๓ เจ้าเมือง หรือรูปตัวพระ
                         
            ๔. นางเมือง หรือตัวนาง นิยมแกะเป็นรูปผู้หญิงสาวที่มีรูปร่างสวยงาม พร้อมกับทรงเครื่องอย่างเจ้าหญิงถ้าสวมมงกุฎจะใช้เป็นรูปมเหสีหรือเรียกว่า นางเมือง แต่ถ้าไม่สวมมงกุฎจะใช้เป็นรูปเจ้าหญิง หรือราชธิดา ซึ่งเหมาะสมกับเรื่องจักรๆวงศ์ๆ  แต่นางเอกที่เป็นผู้หญิงคนธรรมดา หรือชาวบ้านก็แต่งกายตามลักษณะของท้องเรื่องนั้นๆ
                                                       รูปภาพที่ ๔  นางเมืองหรือรูปตัวนาง

            ๕. ตัวยักษ์ นิยมแกะเป็นยักษ์ที่มีหน้าตาน่ากลัว ถ้าเป็นยักษ์ที่เป็น     เจ้าเมือง ก็จะแต่งกายเต็มยศมือถือดาบ/หอกหรือกระบอง  ถ้าเป็นยักษ์ป่าจะนุ่งใบไม้ ถือกระบองหรือขวาน และที่เป็นยักษ์ตัวเมียก็จะมีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเพศหญิงให้เห็นด้วย
                                                          รูปภาพที่ ๕  รูปตัวยักษ์

                        นอกจากตัวละครที่กล่าวไปแล้วนั้น หนังตะลุงยังต้องมีตัวตลก หรือรูปกาก เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับเนื้อเรื่องด้วย ในคณะหนึ่งๆ มักจะมีตลกเอกไม่เกิน 6 ตัว ที่เข้ากับเสียงและนิสัยของนายหนัง นอกนั้นเป็นตัวตลกประกอบตัวตลกจะพูดภาษาใต้การแต่งกายมักจะเปลือยท่อนบน หน้าตาจะผิดเพี้ยนจากคนจริงไปบ้าง แต่ละตัวมีเสียงพูดหรือสำเนียงโดยเฉพาะ ตัวตลกเอก นิยมนำหนังเท้าของอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มาทำเป็นริมฝีปากล่าง เพื่อให้เกิดความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ปิดทองทั้งตัว บางที่ทำเชือกชักปากด้วยทองแบบสร้อยคอ โดยตัวตลก    แต่ละตัวนั้นก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้
๑. นายเท่ง หรืออ้ายเท่ง เอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง อาศัยอยู่บ้าน     คูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัสงขลา มีนิสัยมุทะลุ พูดจาขวานผาซาก ชอบข่มขู่เพื่อน ล้อเลียนเก่ง มีลักษณะเด่นคือ ผอมสูง ท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมงอหยิก ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย นิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน นุ่งผ้าโสร่งลายตาหมากรุก คาดพุงด้วยผ้าข้าวม้า ไม่สวมเสื้อ ที่สะเอวเหน็บมีดอ้ายครก  (มีดปลายแหลมด้านงอโค้งมีฝัก)

                                                               รูปภาพที่ ๖  รูปนายเท่ง

            ๒. นายยอดทอง หรืออ้ายทอง เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนจริงชาวจังหวัดพัทลุง บางตำนานก็ว่าเป็นพ่อค้าขายพลูอยู่ตลาดเขาชุมทอง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อยก้นงอนขึ้นบนผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ไม่สวม-เสื้อ เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ปากพูดจาโอ้อวด ใจเสาะ   ขี้ขลาด พูดจาเหลวไหล ยกย่องตนเอง บ้ายอ
                                                             รูปภาพที่ ๗  รูปนายยอดทอง

            ๓. นายหนูนุ้ย หรือ อ้ายนุ้ย  เป็นคนวิกลจริต รูปร่างหน้าตาและกิริยาท่าทางดูประหลาด นำเค้ามาจากคนซื่อๆ แกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงยานโย้คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นออกไป คล้ายกับปากวัว มีเครายาวคล้ายหนวดแพะ ใครพูดเรื่องวัวเป็นไม่พอใจ นุ่งผ้าโสร่งแต่ไม่มีลวดลาย ไม่สวมเสื้อ ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือดันขึ้นนาสิก ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม แสดงความซื่อออกมาเสมอ

                                                           รูปภาพที่ ๘  รูปนายหนูนุ้ย

            ๔. นายเมืองหรือ อ้ายขวัญเมือง คนในจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เรียกว่าอ้ายเมือง   แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" แสดงว่าได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่น ใบหน้าของขวัญเมืองคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด นุ่งผ้าพื้นดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ ชอบสงสัยเรื่องของผู้อื่น พูดจาเสียงหวาน

                                                        รูปภาพที่ ๙  รูปนายขวัญเมือง

            ๕. นายสะหม้อหรืออ้ายสะหม้อ เป็นตัวหนังตะลุงที่นำมาจากคนจริง โดยได้รับอนุญาตจากชาวอิสลามชื่อสะหม้อ อยู่บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รูปร่างอ้ายสะหม้อ หลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแขก นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ พูดล้อเลียนผู้อื่นได้เก่ง อวดดี นับถือศาสนาอิสลามแต่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น
                                                     รูปภาพที่ ๑๐  รูปนายสะหม้อ

            ๖. ผู้ใหญ่พูน สันนิษฐานว่าน่าจะเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศีรษะล้าน มีผมเป็นกระจุกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางกลวงอยู่ กลางพุงโย้ย้อยยาน ตะโพกใหญ่ขวิดขึ้นบน นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่มีลวดลาย ชอบยุยง โม้โอ้อวด เห่อยศ ขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว ธาตุแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์หรือกับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ 
                                                        รูปภาพที่ ๑๑  รูปผู้ใหญ่พูน

            ๗.นายโถ หรือ อ้ายโถ เอาเค้ามาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา รูปร่าง มีศีรษะค่อนข้างเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าใน ส่วนท้องตึง     อกใหญ่เป็นรูปโค้ง สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ ชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น ถือเอาเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม      อ้ายโถจะชักเรื่องที่พูดวกเข้าหาเรื่องกินเสมอ เป็นตัวตลกประกอบ

                                                           รูปภาพที่ ๑๒  รูปนายโถ
                                                              

๘. นายสีแก้ว หรือ ตาแก้วหรือ อ้ายแก้ว เชื่อกันว่าเอาเค้ามาจากคนที่ชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนจังหวัดชุมพร แต่ขึ้นรถไฟผิดขบวนมาลงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช   เป็นคนงุ่มง่ามพูดจาช้าๆ เสียงทุ้มแต่ชัดถ้อยชัดคำ เป็นคนพูดจริงทำจริงและสู้คนมือหนักแต่มักคิดช้าไมทันคนอื่น แต่ชอบตักเตือนผู้อื่นให้อยู่ในทำนองคลองธรรม หัวเราะเสียงอยู่ในลำคอ รูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศีรษะล้าน  ไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงขายาวพับขาขึ้นมาถึงหัวเข่า  หนังตะลุงคณะแรกที่นำมาใช้ในการแสดงคือหนังจุเลี่ยม  กิ่งทอง   ต่อมาหนังปรีชา  สงวนศิลป์ นำมาใช้เป็นรูปตลกเอกคู่กับนายนุชและนายดุเหว่าและต่อมาได้ถ่ายทอดมาให้หนังสถิตย์  ปรีชาศิลป์  และลูกศิษย์คนอื่นๆสืบต่อกันมา

                                                  รูปภาพที่  ๑๓  รูปนายสีแก้ว/ตาแก้ว
๙. นายดุเหว่าหรือ อ้ายเหวาอาเค้ามาจากชาวบ้านคนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่บ้านนางพญา ตำบลปากนคร เสียงดังแหลม ใบหน้าแหลมคล้ายหัวปลาสลด ไว้ผมเปีย รูปร่างผอมเล็ก ไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงขายาวพับขาข้างซ้ายขึ้น มีอาชีพเป็นชาวประมง ต่อมาได้เป็นลูกคู่หนังตะลุง       ถือขวานเป็นอาวุธ พูดเสียงแหลม กะล่อน ฉลาดแกมโกง หัวเราะเสียงลงลูกคอเสียงดังเอิ๊ก เป็นเพื่อนคู่หูกับนายแก้ว โดยนายแก้วเรียกว่า น้องเหวา 

                                                รูปภาพที่ ๑๔  รูปนายดุเหว่า/ตาเหวา

            ๑๐. นายนุชหรืออ้ายนุชหรือวรนุช เอาเค้ารูปร่างมาจากชาวบ้าน ที่ชื่อนุดซึ่งเป็นชาวนาในบ้านบางคล้า   หมู่ที่ 9 ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนิสัยเจ้าระเบียบ ประหยัดมัธยัสถ์ มักจะมีความเห็นคล้อยตามผู้นำ ชอบความสวยงามคล้ายนิสัยผู้หญิง บนศีรษะสวมหมวกเปี้ยว (หมวกยอดแหลมทำจากใบจาก) มือขวาถืออาวุธเป็นมีดด้ามยาว มือซ้ายยาวเรียวและงอนคล้ายกับมือของผู้หญิง (มือโนราห์)       พูดเสียงยาน ระดับเสียงกลาง เนิบนาบ มีเชาวน์ปัญญาแต่ไม่ค่อยสู้คน

                                                   รูปภาพที่ ๑๕  รูปตานุช หรือ วรนุช

            ๑๑. อ้ายแก้วกบ  มีรูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อนคู่หูคือนาย ยอดทอง  คณะแรกที่นำมาใช้เป็นรูปตลกคือหนังขำ  พันวาว  แต่ต่อมามาหนังเคล้าน้อย ได้นำมาใช้ เป็นรูปตลกเอก และได้ถ่ายทอดมาลู่ลูกศิษย์ต่อมา   แต่ในยุคเดียวกับที่หนังเคล้าน้อยกำลังดังนั้นก็มีหนังปล้อง ใช้รูปนี้เป็นตัวตลกเอกเหมือนกันแต่ตั้งชื่อว่า อ้ายลูกหมี ซึ่งได้ถ่ายทอดมาถึงลูกศิษย์ของหนังปล้อง  อ้ายลูกหมีหลายคณะเช่นกัน  แต่นายหนังจะรู้ว่ารูปลักษณะของอ้ายแก้วกบกับอ้ายลูกหมีนั้นแตกต่างกันที่ส่วนหูกล่าวคือ อ้ายแก้วกบ จะมีหูเป็นร่องเล็กๆ ดังรูปนี้  แต่ นายลูกหมีจะมีหูผึ่งแหลมขึ้นมาจากศีรษะเล็กน้อยแต่เมื่อนายหนังให้ช่างตัดรูปหนังแกะรูปให้นั้น ช่างรูปบางคนอาจเห็นว่าเป็นรูปลักษณะเดียวกันจึงได้ปาดส่วนหูที่ผึ่งออกมานั้นทิ้งไปให้สวยงามตามลักษณะทางช่าง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันคนจะรู้จักรูปลักษณ์แบบนี้ในนามของอ้ายลูกหมีมากกว่าจะรู้จักนายสีแก้วหรือแก้วกบ (สัมภาษณ์ หนังเคล้าน้อย  โรจนเมธากุล : 2 สิงหาคม 2552)

                                                             รูปภาพที่ ๑๖  รูปอ้ายแก้วกบ

๑.๓.การตั้งโรงและจอ

            การตั้งโรงและจอหนังของการแสดงหนังตะลุง โดยทั่วไปใช้พื้นที่ประมาณ 5-8เมตรหรือประมาณ 9-10 ตารางเมตร นิยมปลูกยกพื้นด้วยเสา 6-9 เสา สูงระดับศีรษะ โดยจะต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ห้ามหันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตก ห้ามปลูกโรงคร่อมคันนา ตอ หรือแอ่งน้ำหรือตรงทางสามแพร่ง หรือระหว่างต้นไม่ใหญ่ เพราะถือว่าไม่เป็น ศิริมงคล   
           โรงที่ตั้งเสาเรียบร้อยแล้วจะล้อมด้วยฝา 2-3 ด้าน ทำจากใบมะพร้าวหรือผ้าใบ หรือโรงของบางคณะอาจจะเปิดโล่งไว้ ส่วนที่ด้านหน้าจะของโรงจะปล่อยโล่งเอาไว้สำหรับขึงผ้าขาวทำเป็นจอหนัง มีความยาวประมาณ 3-6เมตร ที่ขอบของจอจะเจาะเป็นห่วง เรียกว่า หูราม หรือหนวดราม ใช้สำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้ขึงจอให้ตึง ส่วนหลังคาของโรงทำเป็นเพิงหมาแหงน ใช้ผ้าใบ หรือสังกะสี มุงเป็นหลังคา  แต่ในปัจจุบัน หนังตะลุงส่วนมากจะมีฉากหรือหลืบขึงโดยรอบจอหนังอีกชั้นหนึ่งเพื่อความสวยงาม
               ส่วนด้านในของโรงบริเวณหลังจอ จะวางต้นกล้วยสดไว้สำหรับปักรูปหนังที่จะแสดง และแสงสว่างที่ใช้ในการแสดงหนังตะลุงนั้น จะใช้แสงให้ความสว่างเพียงแค่จุดเดียว ในสมัยก่อนใช้ตะเกียงไขมันสัตว์ ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ แต่ปัจจุบันใช้หลอดไฟฟ้า โดยไฟที่ใช้ส่องด้านหน้าจอจะจะใช้หลอดไฟโทนแสงสีส้ม และไฟที่ส่องจากด้านหลังจอจะใช้หลอดไฟแสงสีขาว โดยแขวนให้อยู่ห่างจากจอประมาณ 1 ฟุต   (สุจิตรา  มาถาวร, 2541)
๑.๔ ขั้นตอนในการแสดงหนังตะลุง
ก่อนที่หนังตะลุงจะเริ่มทำการแสดง จะมีขั้นตอนที่เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา โดยมีลำดับในการเล่น ดังนี
       ๑.๔.๑ การตั้งโรง หรือเบิกโรง เป็นพิธีการที่ทำเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เพื่อขอที่ตั้งโรง ปัดเป่าเสนียดจัญไร และอัญเชิญครูหนังมาคุ้มครอง เริ่มพิธีด้วยนายหนังตีกลองและลูกคู่บรรเลงเพลงเชิด จากนั้นนายแผง (คนแบกแผงใส่รูหนัง) จะเบิกรูปหนังมาปักให้เป็นระเบียบ
            ๑.๔.๒ โหมโรง เป็นการบรรเลงดนตรีล้วนๆ เพื่อชักชวนให้คนมาชมและเตรียมความพร้อมของนายหนัง เพลงโหมโรงเริ่มด้วยการตีกลองแล้วบรรเลงดนตรีชนิดอื่นๆ         ปี่จะเป่าเพลงพัดชา และอาจจะตามด้วยเพลงอื่นๆ เช่น ลาวสมเด็จ เขมรปี่แก้ว ลาวดวงเดือน    เป็นต้น หลังจากนั้นจะบรรเลงเพลงทับ 12 เพลง ได้แก่ เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลงยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนางออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งราชการ เพลงยกพล เพลงชุมพล เพลงยักษ์จับสัตว์ และเพลงกลับวัง ในขณะที่โหมโรงนายหนังก็จะนำหนังบางรูปมาปักไว้ เช่น รูปครุฑ หรือสิงห์
            ๑.๔.๓ การออกลิงหัวค่ำ หรือเรียกอีกอย่างว่าออกลิงขาวลิงดำ นิยมในการเล่นหนังตะลุงสมัยก่อน รูปหนังที่ใช้เชิดเป็นหนังจับ คือ ฤาษีอยู่กลาง ลิงขาวมัดลิงดำอยู่ด้านล่าง บางคณะอาจจะแยกแกะเป็นตัวหนัง 3 ตัว มีวิธีเล่น คือ ออกลิงขาวก่อน แล้วออกลิงดำ เสร็จแล้วเอาหัวชนกัน เอาก้นชนกัน แล้วก็ฟัดกัน ถึงตอนนี้ดนตรีก็จะบรรเลงเพลงเชิด
            ๑.๔.๔ การออกฤาษี ฤาษีถือเป็นรูปครูของหนังตะลุง จะเริ่มออกมาหลังจากที่ดนตรีประโคม ระหว่างลิงขาวจับลิงดำอยู่ และพระอิศวรทรงโค โดยฤาษีจะออกก่อนเพื่อคารวะครู และปัดเป่าเสนียดจัญไร
            ๑.๔.๕ ออกรูปบอกเรื่อง เมื่อเสร็จจากการออกรูปฤาษีและพระอิศวรแล้วก็จะออกตัวตลกคือ อ้ายขวัญเมือง หรือรูปนายสีแก้ว  สงขลา เป็นรูปคล้ายตาแก้วของนครศรีธรรมราชแต่ตัวเล็กไม่สวมเสื้อ นุ่งผาโสร่งตาหมากรุก โจงกระเบน มือซ้ายเท้าสะเอวเมือขวากำมือโผล่หัวแม่มือ) และเป็นที่มาของสำนวน  สีแก้วพลอยรุ่ง คือออกมาครั้งเดียวแต่อยู่จนรุ่งสว่างเหมือนรูปอื่นๆ (สัมภาษณ์ :หนังสถิตย์ ปรีชาศิลป์5 สิงหาคม 2552)เพื่อเป็นตัวแทนของนายหนังมาบอกเรื่องราวที่จะแสดงให้กับผู้ชม โดยจะเชิดให้รูปหนังโผล่ขึ้นกลางจอ ยกมือไหว้ผู้ชม 3 ครั้ง แล้วบอกเรื่องราวต่างๆ เช่น แนะนำคณะหนัง สาเหตุที่ได้มาเล่น ขอบคุณผู้ชม และบอกว่าคืนนี้จะแสดงเรื่องอะไร
            ๑.๔.๖ ตั้งนามเมือง เป็นการเปิดเรื่องที่จะแสดง โดยสมมติขึ้นเป็นเมืองๆหนึ่ง รูปหนังที่ใช้ คือ รูปเจ้าเมือง นางเมือง และตัวประกอบอื่นๆ หลังจากนั้นก็จะแสดงตาม      เนื้อเรื่องต่อไป    

๑.๕  บทพากย์และบทเจรจา
บทพากย์  ใช้สำหรับการบรรยายโดยใช้บทร้อยกรองหลายชนิด แล้วแต่ว่าคณะไหนจะใช้แบบใด ได้แก่
๑.๕.๑ ร่ายโบราณ ใช้ในบทตั้งธรณีสาร ตอนออกรูปฤาษี การร้องจะออกเสียงพึมพำ มีลีลาเหมือนร่ายมนต์
๑.๕.๒ กาพย์ฉบัง ใช้ในบทออกลิงหัวค่ำ ออกรูปฉะ (เป็นการสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ ปัจจุบันยกเลิกไปพร้อมๆกับลิงหัวค่ำ) และออกรูปพระอิศวร การร้องจะร้องออกเสียงเต็มเสียงในบทออกลิงหัวค่ำและออกรูปฉะ ส่วนบทออกรูปพระอิศวรมีทำนองเดียวกับการออกรูปพระฤาษี
๑.๕.๓ กลอนแปด ใช้ตอนออกลิงหัวค่ำ ออกรูปปรายหน้าบท เป็นการบรรยายความทั่วไป และอาจใช้บทพรรณนาความบ้าง กลอนแปดจะนิยมใช้มากในหมู่หนังตะลุงจังหวัดสงขลา โดยมีทำนองการร้องค่อนข้างช้า ซึ่งหนังตะลุงทางจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุงใช้ทำนองที่เร็วและกระชับกว่า
๑.๕.๔ กลอนกลบท คือ กลอนแปดที่มีลักษณะบังคับเพิ่มขึ้น กลอนกลบทมีหลายชนิด แต่ละชนิดจะยึดแบบอย่างจากกลบทศิริวิบุลกิตติ ของหลวงศรีปรีชา บ้างก็ดัดแปลงกันเอง แต่ละชนิดเลือกใช้ตามลีลาและบทบาทของตัวละคร เช่น กลบทคำตาย นิยมใช้ตอนออกรูปยักษ์
๑.๕.๕ กลอนสี่ นิยมใช้ในหมู่หนังตะลุงจังหวัดนครศรีธรรมราช ในบทที่ต้องการอารมณ์หรรษา เช่น บทชม
๑.๕.๖ กลอนลอดโหม่ง ใช้ในบทพรรณนาความโศกเศร้า ลีลากลอนจะมีความเนิบช้า เมื่อนายหนังว่ากลอนได้จังหวะหนึ่งๆ ลูกคู่จะตีโหม่งตาม 4 ครั้ง
บทเจรจา  ใช้ตอนดนตรีหยุด ขณะใช้บทเจรจานี้อาจจะใช้ทับ ฉิ่ง กรับ โหม่ง    ใช้จังหวะประกอบคำพูดบางคำ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น